KKP Dime บริษัทในเครือเกียรตินาคินภัทร
Share modal

Bond Yield สหรัฐฯ สูง สัญญาณโลกแตก หรือตกใจไปเอง ?

17 มิถุนายน 2568 · อ่าน 3 นาที

ข่าวเศรษฐกิจ
copy link

2025.06.16   Bond Yield

 

รัฐบาลมีรายได้หลักจากการเก็บภาษี เพื่อนำเงินไปใช้จ่าย เช่น สร้างถนน สร้างสะพาน สวัสดิการ ฯลฯ แต่เมื่อ “รายจ่าย” มากกว่า “รายได้” ก็เกิดสิ่งที่เรียกว่า “การขาดดุลการคลัง” (Deficit) ทำให้รัฐต้องยืมเงินด้วยการออกพันธบัตรรัฐบาล (Treasury Bond) มานั่นเอง ซึ่งรัฐบาลสหรัฐฯ มีการขาดดุลทางการคลังมาไม่หยุดตั้งแต่ปี 2002!

พันธบัตรรัฐบาล เป็นหลักทรัพย์ประเภทตราสารหนี้ (Fixed Income) เป็นการยืมเงินจากนักลงทุน โดยสัญญาว่าจะจ่ายคืนพร้อมดอกเบี้ย (Coupon) อัตราดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายถูกกำหนดโดยความต้องการของนักลงทุน หากมีคนอยากลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลมากกว่าจำนวนที่ออก รัฐก็ไม่มีความจำเป็นต้องจ่ายดอกเบี้ยแพง รัฐบาลสหรัฐฯ จึงสามารถออก Treasury Bond ที่ให้ดอกเบี้ยต่ำมาได้เรื่อย ๆ เพราะมีความน่าเชื่อถือมากหลายจนคนมองว่าเป็น “สินทรัพย์ปลอดภัย” (Safe Haven)

แต่ Coupon ที่รัฐจ่ายไม่ใช่สิ่งที่นักลงทุนได้จริง ๆ เสมอไป เพราะอัตราผลตอบแทนที่นักลงทุนได้รับเรียกว่า “Bond Yield” ที่ขึ้นอยู่กับราคาที่นักลงทุนซื้อพันธบัตรนั้น ๆ

ยกตัวอย่าง
พันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ 10 ปี มูลค่า 1,000 ดอลลาร์ จ่ายดอกเบี้ย 40 ดอลลาร์ (4%) ต่อปี ปีละ 1 ครั้ง
ซื้อที่ราคา 1,000 ดอลลาร์ → ได้ Yield 4% ต่อปี
ซื้อที่ราคา 900 ดอลลาร์ → ได้ Yield 5.315% ต่อปี
ซื้อที่ราคา 1,100 ดอลลาร์ → ได้ Yield 2.837% ต่อปี

พันธบัตรจ่ายดอกเบี้ยเท่าเดิมทุกปี แต่ราคาเปลี่ยนได้ตามตลาด ถ้าคุณซื้อถูกลง ผลตอบแทนที่ได้จริงก็จะเยอะขึ้นเอง !

อีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อ Yield คือ “ดอกเบี้ยนโยบาย” ของธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) หาก Fed เร่งขึ้นดอกเบี้ยเพื่อต่อสู้กับเงินเฟ้อ ตลาดก็จะคาดว่าพันธบัตรรุ่นใหม่ที่จะออกในอนาคตควรให้ดอกเบี้ยสูงขึ้นตาม ราคาพันธบัตรเก่าจึงต้องลดลง

แล้วใครอยากได้พันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ ?
ธนาคารกลางประเทศต่าง ๆ ที่ต้องการเงินดอลลาร์ในบัญชีเงินสำรอง
ธนาคารขนาดใหญ่และประกันภัย เพื่อบริหารความเสี่ยง

กองทุนบำเหน็จบำนาญ และกองทุนรวม เพื่อหาผลตอบแทนที่มั่นคงในระยะยาว

นักลงทุนรายย่อย ผ่าน ETF หรือกองทุน

เพราะมองว่าพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ “ปลอดภัยและสภาพคล่องสูง”

นอกจากนี้ พันธบัตรรัฐบาลสหรัฐยังถูกใช้เป็นมาตรฐานในการออกสินเชื่อประเภทอื่น ๆ ด้วย เช่นสินเชื่อส่วนบุคคล สินเชื่อบ้าน รวมถึงหุ้นกู้

การที่ Yield พันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ 30 ปี (US30Y) แตะ 5% ในเดือนที่ผ่านมาแปลว่า “ราคาพันธบัตรเก่าที่ดอกเบี้ยน้อยกว่านี้ร่วงแรงมาก” จนเกิดความกังวลในตลาดว่ามูลค่าทรัพย์สินของธนาคารต่าง ๆ จะลดลง จนอาจนำไปสู่ปัญหาเสถียรภาพทางการเงินเหมือนที่เกิดกับ Silicon Valley Bank (SVB) เมื่อเดือนมีนาคม 2023

แต่จริง ๆ แล้ว SVB เป็นกรณีพิเศษ

กลุ่ม Venture Capital เป็นลูกค้าหลักของ SVB ในปลายปี 2022 SVB ถือตราสารหนี้ต่าง ๆ อยู่ 55.4% ของสินทรัพย์ทั้งหมด และส่วนใหญ่เป็นพันธบัตรระยะยาวอายุ 10–30 ปี เมื่อธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) เร่งขึ้นดอกเบี้ย พันธบัตรที่ออกใหม่ก็ให้ผลตอบแทนสูงขึ้น ทำให้พันธบัตรเดิมราคาตกลงอย่างหนัก SVB จำเป็นต้องขายพันธบัตรบางส่วนที่ขาดทุนเพื่อนำเงินสดมาให้ลูกค้าที่แห่ถอนเงิน แต่การขายขาดทุนนั้นยิ่งทำให้กลุ่มลูกค้าหลักแตกตื่น สุดท้าย หน่วยงานกำกับดูแลจึงต้องเข้าควบคุมกิจการในทันที

ถ้าเราดูงบของธนาคารใหญ่ ๆ จะพบว่า…

พวกเขามีโครงสร้างงบดุลและการบริหารความเสี่ยงที่ “ต่างจาก SVB อย่างสิ้นเชิง”

ยกตัวอย่างเช่น J.P. Morgan กับ Morgan Stanley ในไตรมาสแรกปีนี้

J.P. Morgan ลงทุนในหลักทรัพย์ประเภทตราสารหนี้เพียง 15.2% ของสินทรัพย์รวม
Morgan Stanley น้อยกว่านั้นอีก อยู่ที่ 12.2%

นอกจากนี้ทั้งคู่ยังได้รับประโยชน์จากการขึ้นดอกเบี้ยโดยตรง

J.P. Morgan ระบุว่าหากอัตราดอกเบี้ยขึ้น 1% → รายได้จากดอกเบี้ยสุทธิ (Net Interest Income, NII) จะเพิ่มขึ้นประมาณ 2.2 พันล้านดอลลาร์ใน 12 เดือนหน้า

Morgan Stanley ก็จะได้ NII จากธุรกิจบริหารความมั่งคั่ง เพิ่มขึ้น 285 ล้านดอลลาร์ จากการขึ้นดอกเบี้ยในช่วงเดียวกัน

และที่สำคัญ ธนาคารขนาดใหญ่อย่าง J.P. Morgan และ Morgan Stanley ยังมีฐานเงินฝากที่หลากหลาย และไม่ได้พึ่งพาตราสารหนี้ระยะยาวในสัดส่วนสูงเหมือน SVB จึงยังไม่มีสัญญาณที่บ่งชี้ว่าอาจเผชิญปัญหาเสถียรภาพจากการที่ Bond Yield ปรับตัวขึ้นในรอบนี้

สรุปคือ Bond Yield ที่ขึ้นไม่ใช่สัญญาณโลกแตก แต่ก็ไม่ใช่เรื่องที่ควรมองข้าม

ในด้านหนึ่ง… ธนาคารใหญ่ยังรับมือได้ดี และยังไม่มีสัญญาณความเปราะบางเหมือน SVB

แต่อีกด้านหนึ่ง… ถ้าอัตราผลตอบแทนของ “สินทรัพย์ปลอดภัย” อย่างพันธบัตรสูงขึ้น ต้นทุนค่าเสียโอกาส (Opportunity Cost) ในการถือหุ้นก็เพิ่มขึ้นตาม แถมนักลงทุนไทยยังต้องระวังความเสี่ยงจากค่าเงินหากลงทุนในสินทรัพย์ดอลลาร์

เพราะฉะนั้นถึงจะไม่แตกตื่น ก็ไม่ควรละเลย

ข้อมูลนี้จัดทำขึ้นเพื่อเป็นการให้ข้อมูลทั่วไปเท่านั้น โดยไม่ถือว่าเป็นการให้คำแนะนำด้านการลงทุน บทวิเคราะห์ หรือการเสนอขายแต่อย่างใด ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไข ผลตอบแทนและความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน

ที่มา:
https://fiscaldata.treasury.gov/americas-finance-guide/national-deficit/#the-causes-of-deficits-and-surpluses

https://www.morganstanley.com/content/dam/msdotcom/en/about-us-ir/shareholder/10q0325.pdf

https://www.jpmorganchase.com/content/dam/jpmc/jpmorgan-chase-and-co/investor-relations/documents/quarterly-earnings/2025/1st-quarter/corp-q1-2025.pdf

https://d18rn0p25nwr6d.cloudfront.net/CIK-0000719739/f36fc4d7-9459-41d7-9e3d-2c468971b386.pdf


Dime! ครบเครื่องเรื่องการเงิน แอปพลิเคชันที่ทุกคนสามารถเข้าถึงการลงทุนได้อย่างเท่าเทียม 

เรารอฟังคำแนะนำจากทุกคนอยู่ ติดต่อเราได้เลยทางแอป Dime! หรือช่องทางโซเชียล Facebook และ LINE

[รู้จักเรา]
Dime! (ไดม์!) แปลว่าเหรียญ 10 เซนต์ (ประมาณ 3 บาท) สื่อถึงความตั้งใจของเราที่จะทำให้การเงินการลงทุน เป็นเรื่องที่คุณเข้าถึงได้ง่ายเหมือนกับเงิน 1 ไดม์

KKP Dime บริษัทในเครือเกียรตินาคินภัทร

KKP Dime
เป็นบริษัทในเครือเกียรตินาคินภัทร

img-qr-code
img-qr-ring
สแกนเพื่อ
ดาวน์โหลด
แอป Dime!
ผลิตภัณฑ์
ออมเงินลงทุนจัดการ
กฎหมายและข้อบังคับ
ประกาศนโยบายการใช้คุกกี้ประกาศความเป็นส่วนตัวใบอนุญาตประกอบธุรกิจฯ
facebookinstagramtwittertiktoklineblockdit
© สงวนลิขสิทธิ์ บริษัท หลักทรัพย์ เคเคพี ไดม์ จำกัด