หุ้นกู้และหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุน (Perpetual Bond: Perp) เหมือนหรือต่างกันอย่างไร ?
15 มิถุนายน 2567 · อ่าน 3 นาที
สำหรับนักลงทุนที่สนใจในการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนที่สม่ำเสมอ ทางเลือกอันดับแรก ๆ นอกจากเงินฝากธนาคารแล้วก็คงเป็นการเลือกลงทุนในหุ้นกู้ที่ออกโดยบริษัทผู้ออกหุ้นกู้ที่มีฐานะทางการเงินมั่นคง และอีกทางเลือกหนึ่งที่เป็นที่น่าสนใจในระยะหลัง ๆ ก็คือ “หุ้นกู้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุน” (Perpetual Bond: Perp) ซึ่งจ่ายผลตอบแทนเป็นงวดดอกเบี้ยเหมือนหุ้นกู้ปกติ แต่ดูจะให้อัตราดอกเบี้ยที่สูงกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับหุ้นกู้ปกติที่ออกโดยบริษัทเดียวกัน
แต่หลายคนอาจยังไม่เข้าใจความแตกต่างระหว่างหุ้นกู้ทั้งสองประเภทนี้อย่างชัดเจน บทความนี้จะพาคุณไปทำความเข้าใจอย่างละเอียดเกี่ยวกับหุ้นกู้และหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุน พร้อมข้อควรรู้ก่อนเริ่มจองซื้อหุ้นกู้ เพื่อให้คุณสามารถตัดสินใจลงทุนได้อย่างมั่นใจ
หุ้นกู้ (Bond)
คือ ตราสารหนี้ที่ออกโดยบริษัทเอกชนเพื่อระดมทุนจากนักลงทุน โดยผู้ลงทุนจะได้รับผลตอบแทนในรูปของดอกเบี้ยตามอัตราที่กำหนดไว้ และจะได้รับเงินต้นคืนเมื่อหุ้นกู้ครบกำหนดไถ่ถอน
หุ้นกู้ถือเป็นทางเลือกในการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนที่สม่ำเสมอ รักษาเงินต้นได้ดี และถือว่ามีความเสี่ยงต่ำกว่าการลงทุนในหุ้นสามัญของบริษัทเดียวกัน
ลักษณะสำคัญของหุ้นกู้
- ผู้ออกหุ้นกู้
บริษัทเอกชน รัฐวิสาหกิจ - อัตราดอกเบี้ย
หุ้นกู้แต่ละรุ่นจะมีอัตราดอกเบี้ยที่แตกต่างกัน ซึ่งขึ้นอยู่กับความน่าเชื่อถือของผู้ออกหุ้นกู้ อายุของหุ้นกู้ และสภาวะตลาด ณ ขณะนั้น - ระยะเวลา
หุ้นกู้มีระยะเวลาที่แน่นอน โดยทั่วไปจะอยู่ในช่วง 1-10 ปี เมื่อครบกำหนดไถ่ถอน ผู้ลงทุนจะได้รับเงินต้นคืน - อันดับความน่าเชื่อถือ (เรตติ้ง)
ความเสี่ยงหลักของการลงทุนในหุ้นกู้ คือความเสี่ยงเกี่ยวกับความสามารถในการชำระคืนหนี้ของผู้ออกหุ้นกู้ ซึ่งอาจจะประเมินได้ยากแต่ผลกระทบรุนแรง ดังนั้น เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจในการลงทุน ผู้ออกหุ้นกู้และหุ้นกู้จึงมักจัดให้มีการจัดเรทติ้งจากสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือที่ได้รับการรับรองจากสำนักงาน ก.ล.ต.
ข้อดีของการลงทุนในหุ้นกู้
- ผลตอบแทนสม่ำเสมอ
หุ้นกู้ให้ผลตอบแทนในรูปของดอกเบี้ยที่สม่ำเสมอ ทำให้นักลงทุนสามารถคาดการณ์ผลตอบแทนที่จะได้รับได้ - ความเสี่ยงต่ำกว่าหุ้นสามัญ
นอกจากหุ้นกู้จะช่วยรักษาเงินต้นแล้ว ผู้ถือหุ้นกู้ยังมีสิทธิ์ได้รับชำระหนี้ก่อนผู้ถือหุ้นสามัญในกระบวนการฟื้นฟูกิจการ ล้มละลาย หรือชำระบัญชีเพื่อเลิกบริษัทด้วย - ทางเลือกในการกระจายความเสี่ยง
การลงทุนในหุ้นกู้สามารถช่วยกระจายความเสี่ยงของพอร์ตการลงทุนได้
ข้อควรระวังของการลงทุนในหุ้นกู้
- ผลตอบแทนคงที่ ไม่เปลี่ยนแปลงตามสภาวะตลาดและผลการดำเนินงานของผู้ออกหุ้นกู้
เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยถูกกำหนดไว้ตั้งแต่วันออกหุ้นกู้ - ความเสี่ยงจากการผิดนัดชำระหนี้
หากผู้ออกหุ้นกู้ผิดนัดชำระหนี้ ผู้ลงทุนอาจสูญเสียเงินลงทุนบางส่วนหรือทั้งหมดได้ - ความเสี่ยงจากอัตราดอกเบี้ย
หากอัตราดอกเบี้ยในตลาดเพิ่มขึ้น ราคาของหุ้นกู้ในตลาดรองอาจลดลงได้
หุ้นกู้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุน (Perpetual Bond: Perp)
เป็นหุ้นกู้ชนิดพิเศษที่ผู้ออกหุ้นกู้กำหนดโครงสร้างให้มีลักษณะเป็นลูกผสมระหว่างความเป็นหนี้และความเป็นทุน โดยมีจุดมุ่งหมายให้เป็นตราสารที่อยู่ในระดับขั้นกลางระหว่างหุ้นกู้และหุ้นสามัญ เพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นในการบริหารหนี้สินและทุน
ลักษณะสำคัญของหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุน
- ไม่มีกำหนดไถ่ถอน
มีอายุตราบเท่าที่ผู้ออกหุ้นกู้ยังคงดำเนินธุรกิจอยู่ คล้ายหุ้นสามัญ แต่มักจะมีเงื่อนไขที่ผู้ออกหุ้นกู้สามารถไถ่ถอนคืนก่อนกำหนดได้ (Call Option) - เป็นหุ้นกู้ด้อยสิทธิ
ผู้ลงทุนจะมีสิทธิ์ด้อยกว่าเจ้าหนี้รายอื่น ๆ ในการได้รับชำระหนี้ในกระบวนการฟื้นฟูกิจการ ล้มละลาย หรือชำระบัญชีเพื่อเลิกบริษัท แต่ยังมีสิทธิเหนือกว่าผู้ถือหุ้นสามัญ - ผู้ออกหุ้นกู้สามารถเลื่อนการชำระดอกเบี้ยได้
ผลตอบแทนจ่ายอยู่ในรูปของอัตราดอกเบี้ยเหมือนหุ้นกู้ แต่ผู้ออกหุ้นกู้สามารถเลือกที่จะเลื่อนการชำระดอกเบี้ยได้ เหมือนกับเงินปันผล แต่ก็มักมีเงื่อนไขห้ามจ่ายเงินปันผลในกรณีที่มีดอกเบี้ยค้างชำระ (Dividend stopper) - ความเสี่ยงสูงกว่าหุ้นกู้ทั่วไป
ทั้งความเสี่ยงที่ผู้ออกหุ้นกู้อาจจะไม่ไถ่ถอน ความเสี่ยงที่จะถูกเลื่อนการจ่ายดอกเบี้ย รวมถึงความเสี่ยงจากความด้อยสิทธิ
ข้อดีของการลงทุนในหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุน
- อัตราดอกเบี้ยสูงกว่าหุ้นกู้ทั่วไป
เพื่อชดเชยความเสี่ยงที่สูงขึ้น หุ้นกู้ชนิดนี้จึงมีการกำหนดอัตราดอกเบี้ยที่สูงกว่าหุ้นกู้ปกติที่ออกโดยบริษัทเดียวกัน - กระแสเงินสดสม่ำเสมอ
หากผู้ออกหุ้นกู้ยังมีสภาพคล่องที่ดี ผู้ลงทุนจะได้รับดอกเบี้ยอย่างสม่ำเสมอ และในกรณีที่มีการเลื่อนจ่ายดอกเบี้ย ดอกเบี้ยที่ถูกเลื่อนก็ยังมีการทดไว้รอการชำระ - รักษาเงินต้น
ถึงแม้จะไม่มีกำหนดไถ่ถอน แต่เงินต้นก็ไม่มีการเปลี่ยนแปลง ทำให้ผลตอบแทนดอกเบี้ยที่ได้รับคงที่ อีกทั้งยังได้รับเงินต้นคืนเต็มจำนวนหากบริษัทใช้สิทธิไถ่ถอนก่อนครบกำหนด
ข้อควรระวังของการลงทุนในหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุน
- เน้นผลตอบแทนสูง และเสี่ยงสูง
หุ้นกู้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุนเหมาะกับผู้ลงทุนที่สามารถใช้เงินลงทุนในระยะยาวมากกว่า 5 ปีได้ และรับความเสี่ยงได้สูงกว่าหุ้นกู้ทั่วไป - อาจต้องถือยาว
เพราะไม่มีการกำหนดวันครบกำหนดไถ่ถอน นักลงทุนจะได้เงินต้นคืนเมื่อผู้ออกหุ้นกู้ใช้สิทธิไถ่ถอนหุ้นกู้ก่อนกำหนด หรือเลิกกิจการแล้วเท่านั้น - เลื่อนจ่ายดอกเบี้ยได้
ผู้ออกหุ้นกู้สามารถเลื่อนจ่ายดอกเบี้ยได้ไม่จำกัดจำนวนครั้ง โดยไม่ต้องมีดอกเบี้ยหรือผลตอบแทนบนดอกเบี้ยที่ค้างชำระใด ๆ - ได้รับชำระหนี้หลังเจ้าหนี้รายอื่น ๆ
ในกรณีที่ผู้ออกหุ้นกู้ล้มละลาย นักลงทุนจะได้รับดอกเบี้ยและเงินต้น ภายหลังจากที่บริษัทผู้ออกหุ้นกู้ได้ชำระหนี้ให้เจ้าหนี้มีประกัน และเจ้าหนี้สามัญอื่น - ไม่มีข้อกำหนดการผิดนัดไขว้ (Cross Default)
กรณีที่บริษัทผู้ออกหุ้นกู้ผิดนัดชำระหนี้หุ้นกู้กับเจ้าหนี้รายอื่น จะไม่ถือเป็นการผิดนัดชำระหนี้ในหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุน ดังนั้น นักลงทุนไม่มีสิทธิเรียกร้องให้บริษัทคืนเงินต้นได้ - ไถ่ถอนคืนก่อนกำหนด
หากบริษัทผู้ออกหุ้นกู้ใช้สิทธิไถ่ถอนหู้นกู้ก่อนกำหนด นักลงทุนจะได้รับเงินต้นคืนเต็มทั้งจำนวน แต่มีโอกาสเสียผลประโยชน์จากการนำเงินต้นดังกล่าวไปลงทุนต่อแล้วอาจได้ผลตอบแทนที่ลดลง (Reinvestment Risk) - ความผันผวนของราคา
ราคาของด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุนอาจมีความผันผวนมากกว่าหุ้นกู้ทั่วไป - สภาพคล่องต่ำ
ในกรณีที่นักลงทุนต้องการขายหุ้นกู้ดังกล่าวจะต้องติดต่อธนาคารหรือบริษัท หลักทรัพย์เพื่อขายหุ้นกู้ในตลาดรอง อย่างไรก็ตามอาจจะไม่สามารถขายได้ทันที หรือต้องขายในราคาต่ำกว่าที่ซื้อ
ดังนั้น ก่อนตัดสินใจลงทุนในหุ้นกู้หรือหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุนนักลงทุนควรพิจารณาปัจจัยต่อไปนี้
- ความน่าเชื่อถือของผู้ออกหุ้นกู้
ศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับผู้ออกหุ้นกู้อย่างละเอียด เช่น ลักษณะธุรกิจ ผลประกอบการ ฐานะการเงิน อันดับความน่าเชื่อถือ - ลักษณะของหุ้นกู้
ทำความเข้าใจความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนในหุ้นกู้แต่ละประเภท และพิจารณาว่าความเสี่ยงนั้นเหมาะสมกับระดับความเสี่ยงที่คุณยอมรับได้หรือไม่ - ระยะเวลาการลงทุน
ควรพิจารณาว่าอายุของหุ้นกู้สอดคล้องกับเป้าหมายการลงทุนหรือไม่ เนื่องจากหุ้นกู้จัดเป็นตราสารที่มีสภาพคล่องต่ำ การขายหุ้นกู้ในตลาดรองอาจต้องใช้เวลา - อัตราดอกเบี้ย
เปรียบเทียบอัตราดอกเบี้ยของหุ้นกู้ว่าสอดคล้องกับความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องหรือไม่
ทั้งนี้ กรณีที่นักลงทุนต้องการลงทุนในหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุนจะต้องทำ "แบบประเมินความเสี่ยงก่อนลงทุน" "แบบทดสอบความรู้และประสบการณ์ลงทุน" และ "แบบทดสอบความรู้เกี่ยวกับหุ้นกู้ด้อยสิทธิฯ" ก่อนจึงจะสามารถลงทุนในหุ้นกู้ดังกล่าวได้
สรุป
หุ้นกู้และหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุนเป็นทางเลือกในการลงทุนที่น่าสนใจสำหรับนักลงทุนที่ต้องการกระจายความเสี่ยง และได้รับผลตอบแทนที่สม่ำเสมอ อย่างไรก็ตาม ก่อนตัดสินใจลงทุน นักลงทุนควรศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับหุ้นกู้แต่ละประเภทอย่างละเอียด และพิจารณาปัจจัยต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้สามารถตัดสินใจลงทุนได้อย่างมั่นใจ
และหากคุณสำรวจตัวเองและพร้อมเริ่มต้นลงทุนในหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุนแล้ว เราขอแนะนำวิธีจองซื้อหุ้นกู้และหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุนผ่านแอปพลิเคชัน Dime! แบบง่าย ๆ เพียงไม่กี่ขั้นตอน ดังนี้
วิธีจองซื้อหุ้นกู้
ขั้นที่ 1
เลือกเมนู “ลงทุน” (Invest) แท็บ "หุ้นไทย" (Thai Stock) จะพบหัวข้อ "หุ้นกู้ - ดูข้อมูลและจองซื้อได้ที่นี่ !" เมื่อกดเข้าไปจะพบหน้าต่างที่แสดงข้อมูลหุ้นกู้ทั้งหมด และตัวเลือกให้ทำแบบทดสอบความรู้และประสบการณ์ลงทุน สำหรับกรณีที่ต้องการจองซื้อหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุน หรือ หุ้นกู้ด้อยสิทธิฯ
ขั้นที่ 2
คุณสามารถกดเข้าไปศึกษารายละเอียดหุ้นกู้ที่เปิดจองซื้อผ่านแอป Dime! ได้ โดยในหน้าดังกล่าวจะแสดงข้อมูลประเภทของหุ้นกู้ อายุหุ้นกู้ ระดับความเสี่ยง อันดับเครดิตของหุ้นกู้และของบริษัทผู้ออกหุ้นกู้ รวมไปถึงวันที่เปิดจองซื้อหุ้นกู้ดังกล่าว
หมายเหตุ: ในหน้าข้อมูลหุ้นกู้ จะมีปุ่ม Information เพื่ออธิบายให้ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับหุ้นกู้ รวมทั้งข้อมูลที่จำเป็นสำหรับการลงทุน
ขั้นที่ 3
กรณีที่ต้องการจองซื้อหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุนระบบจะบังคับให้ต้องทำ ดังนี้
(1) แบบทดสอบความรู้และประสบการณ์ลงทุน
(2) ลงนามรับทราบเกี่ยวกับข้อมูลผลิตภัณฑ์
(3) แบบทดสอบความรู้เกี่ยวกับหุ้นกู้ด้อยสิทธิฯ ก่อน
หมายเหตุ: จะต้องตอบคำถามทั้ง 2 แบบทดสอบให้ถูกทุกข้อเท่านั้น (ทำแบบทดสอบได้ไม่จำกัดครั้ง) จึงจะสามารถดำเนินการจองซื้อหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุนในหน้าถัดไปได้
กรณี ผ่านแบบทดสอบ
กรณี ไม่ผ่านแบบทดสอบ
ขั้นที่ 4
หลังจากผ่านแบบทดสอบแล้วก็สามารถส่งคำสั่งจองซื้อหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุนได้ โดยเมื่อส่งคำสั่งซื้อสำเร็จ ระบบจะทำการตัดเงินในบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ Dime! Save ของคุณ และจะพาคุณไปที่หน้ารายละเอียดคำสั่งซื้อหุ้นกู้
จองซื้อหุ้นกู้แบบออนไลน์ รวดเร็ว ปลอดภัย จองซื้อได้ก่อนใครผ่านแอปพลิเคชัน Dime!
จัดจำหน่ายโดยบริษัทหลักทรัพย์ เกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน) (“KKPS”)
ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน และความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน
บล. KKP Dime ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการจัดจำหน่ายหลักทรัพย์แต่อย่างใด บล. KKP Dime เป็นเพียงผู้ให้บริการ Platform เพื่ออำนวยความสะดวกในการจองซื้อหุ้นกู้ภายใต้สัดส่วนและปริมาณของ KKPS ซึ่งเป็นผู้จัดจำหน่ายและผู้จัดการออกตราสาร
Dime! ครบเครื่องเรื่องการเงิน แอปพลิเคชันที่ทุกคนสามารถเข้าถึงการลงทุนได้อย่างเท่าเทียม
เรารอฟังคำแนะนำจากทุกคนอยู่ ติดต่อเราได้เลยทางแอป Dime! หรือช่องทางโซเชียล Facebook และ LINE
[รู้จักเรา]
Dime! (ไดม์!) แปลว่าเหรียญ 10 เซนต์ (ประมาณ 3 บาท) สื่อถึงความตั้งใจของเราที่จะทำให้การเงินการลงทุน เป็นเรื่องที่คุณเข้าถึงได้ง่ายเหมือนกับเงิน 1 ไดม์