ลงทุนกองทุนรวมต้องเสียภาษีอะไรบ้าง ?
20 พฤษภาคม 2567 · อ่าน 1 นาที
กองทุนรวม เป็นการรวบรวมเงินจากนักลงทุนหลาย ๆ คน เพื่อนำไปลงทุนในสินทรัพย์หลากหลายประเภท เช่น หุ้น ตราสารหนี้ เงินฝาก ทองคำ ฯลฯ โดยมีผู้เชี่ยวชาญด้านการลงทุนหรือบริษัทจัดการกองทุน (บลจ.) เป็นผู้ดูแลจัดการเงินลงทุนให้ โดยมีข้อดีคือ เริ่มต้นได้ง่าย ใช้เงินลงทุนน้อย ช่วยกระจายความเสี่ยงในสินทรัพย์ที่หลากหลาย และยังมีสิทธิประโยชน์ทางภาษีด้วย
แต่ก่อนจะเริ่มต้นลงทุนกองทุนรวม เรามาศึกษา “ภาษี” ให้เข้าใจกันก่อนว่าภาษีกองทุนรวมมีอะไรบ้าง รับรองว่าเข้าใจง่าย ไม่ซับซ้อนเลย
1. ภาษีของกองทุนรวม
กองทุนรวมถือที่เป็นนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย หรือที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศ ซึ่งมีหน้าที่เสียภาษีเงินได้นิติบุคคล เป็นการจัดเก็บภาษีจากฐานรายได้ก่อนหักค่าใช้จ่าย โดยเก็บภาษีเฉพาะรายได้ที่เป็นเงินได้ตามมาตรา 40(4)(ก) แห่งประมวลรัษฎากร
นั่นคือ ดอกเบี้ย (Interest) และส่วนลด (Discount) ในอัตรา 15% ซึ่งผู้จ่ายเงินได้มีหน้าที่หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย และกองทุนรวมไม่ต้องนำเงินได้ดังกล่าวมารวมเพื่อคำนวณเป็นรายได้อีก
กรณีกองทุนรวมมีรายได้ที่เป็นเงินได้ประเภทอื่น นอกจากเงินได้ตามมาตรา 40(4)(ก) ไม่ต้องนำไปรวมเพื่อคำนวณภาษี นั่นคือ กองทุนรวมที่ลงทุนในตราสารหนี้ รายได้จากดอกเบี้ยและส่วนลดที่กองทุนได้รับ ต้องเสียภาษีในอัตรา 15% แต่หากกองทุนรวมนั้นมีการลงทุนในตราสารหนี้ไทยหรือตราสารหนี้ต่างประเทศ ก่อนวันที่ 20 สิงหาคม 2562 ดอกเบี้ยและส่วนลดจะได้รับการยกเว้นไม่ต้องเสียภาษี
อย่างไรก็ตาม มีการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลให้แก่กองทุนรวมบางประเภท คือ กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ RMF กองทุนรวมที่ตั้งขึ้นเพื่อขายหน่วยลงทุนแก่สำนักงานประกันสังคม กองทุนการออมแห่งชาติ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ หรือกล่าวได้ว่านักลงทุนที่ออมเงินในกองทุนกลุ่มเพื่อการเกษียณจะไม่ได้รับผลกระทบเรื่องภาษี เพราะผลตอบแทนจากกองทุนเหล่านี้ได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล
2. ภาษีของผู้ถือหน่วยลงทุน
หากคุณเป็นบุคคลธรรมดาที่ลงทุนกองทุนรวม (กองทุนรวมตราสารทุน กองทุนรวมผสม กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์) กฎหมายจะกำหนดให้เสียภาษีเฉพาะเงินปันผลเท่านั้น ซึ่งจะถูกหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายในอัตรา 10% โดยนักลงทุนสามารถเลือกรับสิทธิ์ในการรวมเพื่อคำนวณรายได้หรือไม่ก็ได้ เพื่อนำไปเสียภาษีตอนสิ้นปี โดยกำไรจากการขายหน่วยลงทุน (Capital Gain) จะได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้
ขณะที่กำไรจากการขายหน่วยลงทุน (Capital Gain) และเงินปันผล กรณีลงทุนกองทุนรวมตราสารหนี้จะได้รับการยกเว้นภาษี
ส่วนกรณีลงทุนในกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน เงินปันผลจะได้รับการยกเว้นภาษีเป็นเวลา 10 ปีนับตั้งแต่วันจดทะเบียนจัดตั้งกองทุน ตามที่ได้มีการประกาศพระราชกฤษฎีกา ฉบับที่ 544 พ.ศ. 2555 ในราชกิจจานุเบกษา บังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 10 ตุลาคม 2555 และหลังจากนั้น จะถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายในอัตรา 10%
ข้อควรระวัง
เงินปันผลจากกองทุนรวมและเงินปันผลจากหุ้น เป็นเงินได้ประเภทเดียวกัน คือ เงินได้ประเภทที่ 4 ซึ่งนักลงทุนสามารถเลือกให้การถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายอัตรา 10% เป็นภาษีสุดท้าย (Final Tax) แล้วไม่ต้องนำมายื่นภาษีรวมกับรายได้ประเภทอื่นอีก เพราะเงินปันผลจากหุ้นจะถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายอยู่แล้ว
ส่วนเงินปันผลของกองทุนรวม นักลงทุนสามารถเลือกได้ตอนเปิดบัญชีกองทุนว่าจะให้บริษัทฯ หักภาษี ณ ที่จ่ายหรือไม่ หากต้องการนำเงินปันผลมารวมคำนวณเพื่อยื่นภาษี มีข้อควรระวัง คือ หากนำเงินปันผลจากกองทุนรวมไปยื่นภาษีแล้ว ต้องนำเงินปันผลจากกองทุนรวมทุกกอง และเงินปันผลจากหุ้น ไปยื่นภาษีทั้งหมด จะเลือกยื่นเฉพาะเงินปันผลจากกองทุนรวมหรือเฉพาะเงินปันผลจากหุ้นไม่ได้
แม้ว่าเงินปันผลจะเป็นเงินได้ที่ไม่สามารถหักค่าใช้จ่ายได้ แต่กรณีเงินปันผลจากหุ้น ที่ถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายในอัตรา 10% นักลงทุนสามารถใช้ “เครดิตภาษีเงินปันผล” หรือการขอคืนภาษีจากการลงทุนในหุ้นได้ตามมาตรา 47 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร เพราะหุ้นปันผลถูกมองว่าเป็นการเก็บภาษีที่ซ้ำซ้อน เนื่องจากบริษัทต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลอยู่แล้วก่อนจะนำมาจ่ายเป็นเงินปันผลให้แก่นักลงทุน บริษัทแต่ละบริษัทจะเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลในอัตราที่ไม่เท่ากัน นักลงทุนแต่ละคนก็มีรายได้อยู่ในฐานภาษีที่ไม่เหมือนกัน ดังนั้น ก่อนตัดสินใจว่าจะนำมายื่นภาษีหรือไม่ ควรคำนวณภาษีจากทั้งสองกรณีเพื่อดูว่าวิธีใดที่จะได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีดีที่สุด
สรุปแล้ว ก่อนเริ่มลงทุนกองทุนรวม นอกจากการทำการบ้านเลือกกองทุนที่เหมาะกับเป้าหมายและกลยุทธ์การลงทุนแล้ว การศึกษาข้อมูลภาษีให้เข้าใจก็ถือเป็นเรื่องสำคัญเช่นกัน เพราะจะช่วยให้เราวางแผนภาษีได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นนั่นเอง
ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน และความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน
ติดต่อขอรับข้อมูลเพิ่มเติมหรือหนังสือชี้ชวนได้ที่บริษัท
ที่มา: ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ข้อมูล ณ วันที่ 29 มี.ค. 67
https://www.setinvestnow.com/th/knowledge/article/151-tsi-mutual-funds-tax
Dime! ครบเครื่องเรื่องการเงิน แอปพลิเคชันที่ทุกคนสามารถเข้าถึงการลงทุนได้อย่างเท่าเทียม
เรารอฟังคำแนะนำจากทุกคนอยู่ ติดต่อเราได้เลยทางแอป Dime! หรือช่องทางโซเชียล Facebook และ LINE
[รู้จักเรา]
Dime! (ไดม์!) แปลว่าเหรียญ 10 เซนต์ (ประมาณ 3 บาท) สื่อถึงความตั้งใจของเราที่จะทำให้การเงินการลงทุน เป็นเรื่องที่คุณเข้าถึงได้ง่ายเหมือนกับเงิน 1 ไดม์