ทำไมราคาหุ้น Coca-Cola (KO) พุ่งขึ้น ขณะที่ PepsiCo (PEP) กลับดิ่งลง ?
9 พฤษภาคม 2568 · อ่าน 3 นาที
🥤 นับตั้งแต่ต้นปี 2568 ราคาหุ้นของบริษัทเครื่องดื่มยักษ์ใหญ่อย่าง Coca-Cola (NYSE : KO) และ PepsiCo (NASDAQ: PEP) ซึ่งแม้จะอยู่ในอุตสาหกรรมเดียวกันและเป็นคู่แข่งกันมาอย่างยาวนาน แต่ราคาหุ้นของทั้งสองกลับเคลื่อนไหวสวนทางกันอย่างชัดเจน
🏦 โดยนับตั้งแต่ต้นปี (2 มกราคม - 7 พฤษภาคม 2568) ราคาของหุ้น Coca-Cola ปรับตัวเพิ่มขึ้นกว่า 17 % ในขณะที่ PepsiCo กลับลดลงถึง 12 %
จุดเริ่มต้นของความแตกต่าง มีที่มาจากหลายสาเหตุ หนึ่งในนั้น คือ โครงสร้างรายได้ของทั้ง 2 บริษัท
🥤Coca-Cola เป็นธุรกิจที่เน้นเครื่องดื่มล้วน ๆ
Coca-Cola สร้างรายได้จากผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มเป็นหลักเกือบ 100 % โดยมีแบรนด์ในเครือมากกว่า 500 แบรนด์ใน 200 ประเทศทั่วโลก เช่น Coca-Cola, Sprite, Fanta, Minute Maid และกาแฟ Georgia Coffee
โดยสัดส่วนรายได้ตามภูมิภาค ข้อมูลปี 2567 ประกอบไปด้วย
อเมริกาเหนือ 40 %
ยุโรป ตะวันออกกลาง และแอฟริกา 17 %
ละตินอเมริกา 14 %
เอเชียแปซิฟิก 12 %
การผลิตขวดบรรจุ และการลงทุนอื่น ๆ 18 %
สัดส่วนรายได้ตามผลิตภัณฑ์
🥤 เครื่องดื่มอัดลม 60 %
🧃 เครื่องดื่มไม่อัดลม เช่น น้ำผลไม้ ชา กาแฟ น้ำดื่ม 40%
ด้วยโมเดลที่เน้นแบรนด์ระดับโลกและช่องทางจัดจำหน่ายที่แข็งแกร่งในทุกทวีป Coca-Cola จึงสามารถขยายฐานผู้บริโภคได้แม้ในช่วงเศรษฐกิจชะลอตัว
🍪 PepsiCo มีพอร์ตสินค้าผสมระหว่างอาหารและเครื่องดื่ม
PepsiCo มีโครงสร้างรายได้ที่แตกต่าง โดยมาจากอาหารมากกว่าครึ่ง ซึ่งรวมถึงแบรนด์ Frito-Lay, Doritos, Quaker และ Cheetos ขณะที่กลุ่มเครื่องดื่มมีสัดส่วนน้อยกว่า
สัดส่วนรายได้ตามผลิตภัณฑ์ ปี 2567
🍪 ขนมขบเคี้ยว และอาหาร 58%
🥤เครื่องดื่ม 42%
สัดส่วนรายได้ตามภูมิภาค
สหรัฐอเมริกา 56%
ต่างประเทศ 44%
🥤 จะเห็นว่า PepsiCo พึ่งพารายได้จากตลาดภายในของสหรัฐอเมริกามากกว่า Coca-Cola และรายได้ส่วนใหญ่ยังอยู่ในหมวดขนมขบเคี้ยว ที่มีความอ่อนไหวต่อกระแสรักสุขภาพ
ผลประกอบการไตรมาส 1 ปี 2568 และปัจจัยชี้วัดเชิงบวก-ลบ
🟢 Coca-Cola: ผลประกอบการดีกว่าที่คาดการณ์ + อัตราการเติบโตทั่วโลก
กำไรสุทธิ เพิ่มขึ้น 4 % โดยเป็นผลมาจากการปรับขึ้นราคาสินค้า 5 % และปริมาณขายที่เพิ่มขึ้น 2 %
ยอดขายในภูมิภาคอื่น ๆ เช่น ละตินอเมริกาและแอฟริกามีการเติบโตแข็งแกร่ง
กำไรต่อหุ้น หรือ EPS สูงกว่าคาด และฝ่ายบริหารยังคงประมาณการรายได้ปี 2568 ไว้อย่างมั่นใจ
🔴 PepsiCo: รายได้ชะลอตัว + ต้นทุนเพิ่ม + ปรับลดเป้ากำไร
ยอดขาย Frito-Lay North America ลดลง 1% ขณะที่ Quaker ลดลงถึง 7%
กำไรต่อหุ้น (EPS) ต่ำกว่าคาดการณ์ของนักวิเคราะห์
ต้นทุนวัตถุดิบและภาษีนำเข้าเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะจากการถูกเก็บภาษี 25 % สำหรับอลูมิเนียม
และ 10% สำหรับวัตถุดิบที่นำเข้าจากไอร์แลนด์
กระแสรักสุขภาพและยาลดน้ำหนัก เช่น ยาลดน้ำหนักตัวใหม่ในกลุ่ม GLP-1 ที่ทำให้ลดความอยากอาหาร จนผู้บริโภคในสหรัฐอเมริกาลดการบริโภคขนมขบเคี้ยวและน้ำอัดลม
🌎 ปัจจัยภายนอก
Coca-Cola ไม่ต้องพึ่งพาตลาดสหรัฐฯ มากเท่า PepsiCo ซึ่งเป็นข้อได้เปรียบในสภาพเศรษฐกิจที่กำลังเผชิญอัตราดอกเบี้ยสูงและผู้บริโภคมีความระมัดระวังในการใช้จ่าย
อีกทั้งความสามารถในการกำหนดราคาของ Coca-Cola ที่มีเหนือกว่า ก็ทำให้ยังสามารถรักษากำไรขั้นต้นได้ดีกว่า
❇️ บทสรุป โมเดลธุรกิจที่ต่างกัน คือสาเหตุสำคัญของความผันผวน
ราคาหุ้น KO และ PEP ในช่วงต้นปี 2568 สะท้อนความแตกต่างที่ลึกกว่าเพียงแค่รายงานผลประกอบการรายไตรมาส หากแต่เป็นผลจากทั้งโครงสร้างธุรกิจ กลยุทธ์ตลาด ไปจนถึงพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป
📈 Coca-Cola ได้ประโยชน์จากความมั่นคงในแบรนด์ของผู้บริโภคทั่วโลก และมีโอกาสในการเติบโตผ่านตลาดใหม่ ๆ นอกสหรัฐ
🚨 ในขณะที่ PepsiCo กลับต้องเผชิญกับความท้าทายจากการเปลี่ยนแปลงเทรนด์สุขภาพและแรงกดดันจากต้นทุนในประเทศ
สิ่งเหล่านี้จึงเป็นองค์ประกอบพื้นฐานสำคัญ ที่ทำให้บริษัทที่ดูเหมือนจะมีผลิตภัณฑ์คล้ายกัน แต่กลับให้ผลตอบแทนที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง..
ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไข ผลตอบแทนและความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน
ผลการดำเนินงานในอดีต/ ผลการเปรียบเทียบ ผลการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ในตลาดทุน มิได้เป็นสิ่งยืนยันถึงผลการดำเนินงานในอนาคต
ข้อมูลนี้จัดทำขึ้นโดยอาศัยแหล่งข้อมูลสาธารณะ ซึ่งพิจารณาแล้วว่ามีความน่าเชื่อถือซึ่งปรากฏขณะจัดทำ ซึ่งอาจเปลี่ยนแปลงได้ในแต่ละขณะเวลา บริษัทขอสงวนสิทธิ์ในการเปลี่ยนแปลงความเห็นหรือประมาณการต่าง ๆ ที่ปรากฏโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า
ที่มา : investors.coca-colacompany.com, pepsico.com
มูลค่าบริษัท ณ วันที่ 8 พฤษภาคม 2568