เลิกงง ! ภาษีเงินได้คำนวณยังไง โพสต์นี้มีคำตอบ
1 กุมภาพันธ์ 2565 · อ่าน 5 นาที
เทศกาลยื่นภาษีกลับมาอีกแล้ว เป็นประจำที่ช่วงต้นปีวัยทำงานอย่างเรา ๆ จะต้องนำข้อมูลของปีที่แล้วมายื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา โดยปกติจะยื่นภาษีประจำปี ปีละ 1 ครั้ง ยกเว้นบางกรณีที่ต้องยื่นภาษีครึ่งปีก่อน 1 รอบ
ครั้งนี้ทางสรรพากรจะเปิดให้ยื่นภาษีเงินได้ประจำปี ของปีภาษี 2564 ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. ถึง 8 เม.ย. 65 (ถ้าไม่มีประกาศเลื่อนออกมาเพิ่มเติม)
สำหรับมือใหม่ที่ต้องยื่นภาษีเป็นครั้งแรก อาจจะยังงง ๆ ว่าภาษีคำนวณยังไง ? แล้วเราต้องเสียภาษีไหม ?
วันนี้เลยจะมาพูดถึงวิธีคำนวณภาษีแบบง่าย ๆ ให้ทุกคนฟัง ถ้าพร้อมแล้วค่อย ๆ ทำความเข้าใจไปพร้อมกันทีละรูปได้เลยครับ
หลายคนมักเข้าใจว่า วิธีการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา มีเพียงแค่วิธีคิดภาษีแบบขั้นบันได ที่คำนวณจากเงินได้สุทธิอย่างเดียว ทั้ง ๆ ที่ความจริงแล้วไม่ใช่ มีวิธีคิดภาษีแบบเหมาที่คำนวณจากเงินได้พึงประเมินด้วย
🔹 1. วิธีคิดภาษีแบบขั้นบันได
วิธีนี้หลายคนคงคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี เริ่มแรกเราจะต้องรวมเงินได้ทั้งปีก่อน จากนั้นค่อยหักด้วยค่าใช้จ่าย และค่าลดหย่อน จนได้เป็นเงินได้สุทธิออกมา แล้วค่อยเอาเงินได้สุทธิก้อนนี้ไปคำนวณภาษีแบบขั้นบันไดอีกที
🔹 2. วิธีคิดภาษีแบบเหมา
วิธีคำนวณภาษีแบบเหมา จะคิดจากการเอาเงินได้พึงประเมินทุกประเภท ลบเงินได้พึงประเมินประเภทที่ 1 แล้วคูณด้วย 0.05% หรือ 0.005 ต้องบอกว่าไม่ใช่ทุกคนที่ต้องคำนวณภาษีเงินได้แบบเหมา เพราะมีเงื่อนไขอยู่ว่าจะใช้วิธีคิดภาษีแบบเหมาเมื่อ
- มีเงินได้อื่นที่ไม่ใช่เงินได้ประเภทที่ 1 เกิน 120,000 บาท
- ยอดภาษีที่คำนวณออกมาด้วยวิธีนี้ต้องเกิน 5,000 บาท
ถ้าใครไม่รู้จะเริ่มคำนวณภาษียังไง อยากให้ยึดตาม 3 STEPS ในการคำนวณภาษีง่าย ๆ ต่อไปนี้
⛳ STEP 1 : คำนวณภาษีแบบขั้นบันไดก่อน
เริ่มแรกอยากให้ทุกคนคำนวณภาษี ตามวิธีคำนวณภาษีจากเงินได้สุทธิแบบขั้นบันไดก่อน และถ้ามีเงินได้ที่ไม่ใช่เงินได้ประเภทที่ 1 น้อยกว่า 120,000 บาท ก็ให้เอายอดที่คำนวณภาษีด้วยวิธีนี้ไปยื่นภาษีได้เลย
⛳ STEP 2 : ถ้ามีเงินได้อื่นที่ไม่ใช่เงินได้ประเภทที่ 1 เกิน 120,000 บาท ให้คำนวณภาษีแบบเหมาด้วย
ถ้ามีเงินได้อื่นที่ไม่ใช่เงินได้ประเภทที่ 1 เกิน 120,000 บาท หลังคำนวณภาษีจากเงินได้สุทธิแบบขั้นบันไดแล้ว ก็ยังไม่จบ ต้องคำนวณภาษีด้วยวิธีแบบเหมาต่อ ซึ่งหลังจากคำนวณ ถ้ายอดภาษีที่คำนวณออกมาด้วยวิธีนี้ต่ำกว่า 5,000 บาท จะต้องกลับไปเสียภาษีตามวิธีแรกแทน แต่ถ้าคำนวณออกมาแล้วมากกว่าให้ไปต่อที่ STEP 3
⛳ STEP 3 : ถ้าต้องคำนวณสองแบบ ให้เอายอดภาษีมาเทียบกัน วิธีไหนเสียมากกว่าให้เลือกวิธีนั้น
หากเราอยู่ในกลุ่มคนที่ต้องคำนวณภาษีด้วยสองวิธี ให้เอายอดที่คำนวณได้จากทั้งสองวิธีมาเทียบกัน ถ้ายอดจากวิธีไหนมากกว่า ให้เลือกเสียภาษีวิธีนั้น
ต่อมาอยากอธิบายวิธีคำนวณภาษีจากเงินได้สุทธิแบบขั้นบันไดให้ทุกคนเพิ่ม เพราะวิธีนี้มีขั้นตอนที่ซับซ้อนกว่าวิธีคำนวณแบบเหมามากพอสมควรครับ
เริ่มกันที่เงินได้สุทธิหายังไง ?
✍️ เงินได้สุทธิ = เงินได้ - ค่าใช้จ่าย - ค่าลดหย่อน
จากตัวอย่าง สมมุติให้นาย A เป็นมนุษย์เงินเดือนที่โสด ได้รับเงินเดือน เดือนละ 30,000 บาท อีกทั้งนาย A ยังมีประกันสังคม และส่งเงินเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพปีละ 36,000 บาท
วิธีคำนวณภาษีของนาย A คือ เริ่มต้นดูที่ส่วนของเงินได้ก่อน นาย A มีเงินได้ทางเดียว คือ เงินเดือน ดังนั้น เงินได้ทั้งปีจะเท่ากับ 360,000 บาท (30,000 x 12) ถัดมาที่ส่วนของค่าใช้จ่าย เงินได้ของนาย A เป็นเงินได้ประเภทที่ 1 เลยสามารถหักค่าใช้จ่ายแบบเหมา 50% แต่ไม่เกิน 100,000 บาท เคสนี้เลยหักได้ 100,000 บาท
ส่วนสุดท้าย ค่าลดหย่อน ทุกคนจะมีค่าลดหย่อนพื้นฐานที่หักได้ คือ ค่าลดหย่อนส่วนตัว 60,000 บาท แล้วเงินสมทบประกันสังคม และเงินสะสมที่จ่ายเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ยังเอามาหักเป็นค่าลดหย่อนได้อีก 5,100 และ 36,000 บาท ตามลำดับ
สุดท้ายเมื่อคิดออกมาหมดแล้ว เงินได้สุทธิจะเท่ากับ 158,900 บาท
มาถึงขั้นตอนคำนวณยอดภาษีที่ต้องจ่าย จุดนี้หลายคนมักจะเข้าใจผิดว่า เอาอัตราภาษีมาคูณเงินได้สุทธิ แล้วจะได้ออกมาเป็นยอดภาษีเลย เช่น เอา 158,900 x 5% ได้เลย
ต้องบอกว่าเป็นความเข้าใจที่ผิด เพราะการคำนวณภาษีแบบขั้นบันได จะคำนวณตรง ๆ แบบนี้ไม่ได้
อยากให้นึกภาพง่าย ๆ ว่า วิธีคิด คือ จะต้องแบ่งเงินได้สุทธิก้อนใหญ่ออกเป็นหลาย ๆ ก้อนตามเงื่อนไขในแต่ละขั้นบันได แล้วเสียภาษีในอัตราตามนั้นไปเรื่อย ๆ จนเงินได้สุทธิก้อนนั้นถูกแบ่งจนหมด
👉 เช่น จากตัวอย่างเดิม นาย A มีเงินได้สุทธิ 158,900 บาท
ขั้นแรก : แบ่ง 150,000 แรกออกมาก่อน เงินก้อนนี้จะถูกยกเว้นภาษี
ขั้นสอง : มาถึงขั้นนี้จะเหลือเงิน 8,900 บาท เพราะหักไป 150,000 บาทในขั้นแรก เงินที่ต้องเสียภาษีในขั้นนี้เลยจะเท่ากับ 445 บาท (8,900 x 5%)
ดังนั้น ยอดภาษีรวมของนาย A คือ 0 + 445 = 445 บาท
อ้างอิง
www.rd.go.th
www.itax.in.th
Dime! แอปที่จะเปลี่ยนให้การเงินเป็นเรื่องของทุกคน และเราก็อยากให้ทุกคนมาร่วมพัฒนาแอปนี้ไปด้วยกัน
เรารอฟังคำแนะนำจากทุกคนอยู่
ติดต่อเราได้เลยทาง Facebook หรือ LINE
[รู้จักเรา]
Dime! (ไดม์!) แปลว่าเหรียญ 10 เซนต์ (ประมาณ 3 บาท) สื่อถึงความตั้งใจของเราที่จะทำให้การเงินการลงทุน เป็นเรื่องที่คุณเข้าถึงได้ง่ายเหมือนกับเงิน 1 ไดม์