กองทุนรวมเชิงรุกและเชิงรับ ต่างกันยังไง เลือกแบบไหนดี
13 มกราคม 2565 · อ่าน 3 นาที
เคยคิดเล่น ๆ กันมั้ยว่า การลงทุนในกองทุนรวม ที่มีผู้จัดการกองทุนรับผิดชอบดูแลเงินของเรา เอาเงินเราไปทำอะไรบ้าง ? มีนโยบายการลงทุนแบบไหน ? มีกลยุทธ์การลงทุนยังไง ?
คำถามเหล่านี้ ล้วนมีส่วนสำคัญต่อ แนวทาง ความคิด และความสำเร็จในการลงทุนของเรา
กลยุทธ์การลงทุน ก็เหมือนกับระบบนำทาง ถ้าเรามีระบบนำทางที่ดี เราก็จะเดินทางถึงที่หมายได้เร็วและปลอดภัย
แต่ถ้าเราไม่เข้าใจ ใช้ระบบนำทางไม่เป็น สุดท้ายเราก็จะหลงทาง เสียทั้งเงิน เสียทั้งเวลา
กลยุทธ์การลงทุนในกองทุนรวม
ปกติแล้วแบ่งได้เป็น 2 ประเภท คือ
- กลยุทธ์เชิงรุก (Active Fund)
- กลยุทธ์เชิงรับ (Passive Fund)
กลยุทธ์ทั้ง 2 ประเภทนี้แตกต่างกันยังไง ? เราจะเลือกแบบไหนดี ?
ลองดูจากปัจจัยต่อไปนี้
1. นโยบายการลงทุนและผลตอบแทน
ขอแบบสั้น ๆ คือ กองทุนรวมเชิงรุกจะเน้นสร้างผลตอบแทนให้เหนือกว่าดัชนีชี้วัด (Benchmark) ขณะที่กองทุนรวมเชิงรับจะเน้นสร้างผลตอบแทนให้ใกล้เคียงกับดัชนีชี้วัด
แล้ว ดัชนีชี้วัด คืออะไร ?
ดัชนีชี้วัด หมายถึงสิ่งที่ใช้เปรียบเทียบ เพื่อดูว่ากองทุนรวมสร้างผลตอบแทนได้ดีกว่าหรือแย่กว่าผลตอบแทนของสิ่งที่นำมาอ้างอิง
ซึ่งกองทุนรวมแต่ละประเภทก็จะมีดัชนีชี้วัดแตกต่างกันไป
เช่น กองทุนรวมหุ้นไทย ก็มักจะใช้ดัชนีชี้วัดเป็น SET Index แต่ถ้าเป็นกองทุนรวมตราสารหนี้ จะมีดัชนีชี้วัดคือ อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาล (ThaiBMA Government Bond Index) เป็นต้น
ดังนั้นกองทุนรวมเชิงรุกจึงต้องเน้น การสรรหา การคัดเลือกหุ้นที่ดีที่สุด เพื่อสร้างกลยุทธ์ที่มีการลงทุนในหุ้นแค่บางตัว จึงจะได้ผลตอบแทนที่แตกต่างจากดัชนีชี้วัด (อาจจะดีหรือแย่กว่าก็ได้)
ส่วนกองทุนรวมเชิงรับ เน้นการสร้างผลตอบแทนให้ใกล้กับดัชนีอ้างอิงมากที่สุด ดังนั้นผู้จัดการกองทุนจึงต้องลงทุนในหุ้นทุกตัว ด้วยสัดส่วนที่ใกล้เคียงหรือเหมือนกับดัชนีอ้างอิง
2. ความเสี่ยง
แน่นอนว่าการจะสร้างผลตอบแทนให้ดีกว่าดัชนีชี้วัด ย่อมมีความเสี่ยงสูงกว่า เป็นผลจากการเลือกหุ้นลงทุนรายตัว ถึงแม้ว่าผู้จัดการกองทุนจะเลือกมาดีแล้ว แต่ก็ยังมีความเสี่ยงที่อาจจะเลือกผิดตัวก็ได้
ดังนั้นกองทุนรวมเชิงรุกจึงมีความเสี่ยงสูงกว่ากองทุนรวมเชิงรับที่มีความเสี่ยงใกล้เคียงกับดัชนีชี้วัด
3. ค่าธรรมเนียม
กองทุนรวมเชิงรุก จะมีค่าธรรมเนียมในการจัดการสูง เพราะผู้จัดการกองทุนต้องใช้ความพยายาม ทุ่มเท ในการดูแล สรรหาการลงทุนที่จะทำให้ผลตอบแทนเหนือดัชนีชี้วัด (ขอย้ำอีกที !! ผลตอบแทนในชีวิตจริงอาจจะดีหรือแย่กว่าก็ได้)
ส่วนกองทุนรวมเชิงรับ จะมีค่าธรรมเนียมต่ำ เพราะไม่ต้องดูแลมากนัก ทุกอย่างคือการเลียนแบบดัชนีชี้วัด
4. ความยืดหยุ่นในการลงทุน
กองทุนรวมเชิงรุก มีความยืดหยุ่นมากกว่า โดยผู้จัดการกองทุนสามารถปรับเปลี่ยนหุ้น เข้า-ออก ได้ตามความเหมาะสม ขณะที่กองทุนรวมเชิงรับไม่สามารถปรับเปลี่ยนได้
สรุป เราเหมาะกับกองทุนรวมไหน ?
หัวใจหลักอยู่ที่ความเสี่ยงที่เรารับได้และเวลาในการหาความรู้และศึกษา
ถ้าเราเป็นนักลงทุนที่รับความเสี่ยงได้สูงและมีเวลาในการศึกษา ติดตามข่าวเศรษฐกิจ การลงทุน สืบค้นดูฝีมือการสร้างผลตอบแทนในอดีตย้อนหลังของผู้จัดการกองทุน ในกรณีนี้กองทุนรวมเชิงรุกจะเข้ามาตอบโจทย์
แต่ถ้าเราเป็นนักลงทุนที่ไม่ชื่นชอบความเสี่ยงมากนัก ไม่มีเวลาติดตามข่าวสาร ไม่อยากเลือกหุ้นด้วยตัวเอง แต่อยากลงทุนในระยะยาว กองทุนรวมเชิงรับจะเหมาะมากกว่า
อ้างอิง
www.investopedia.com
www.set.or.th
Dime! แอปที่จะเปลี่ยนให้การเงินเป็นเรื่องของทุกคน และเราก็อยากให้ทุกคนมาร่วมพัฒนาแอปนี้ไปด้วยกัน
เรารอฟังคำแนะนำจากทุกคนอยู่
ติดต่อเราได้เลยทาง Facebook หรือ LINE
[รู้จักเรา]
Dime! (ไดม์!) แปลว่าเหรียญ 10 เซนต์ (ประมาณ 3 บาท) สื่อถึงความตั้งใจของเราที่จะทำให้การเงินการลงทุน เป็นเรื่องที่คุณเข้าถึงได้ง่ายเหมือนกับเงิน 1 ไดม์