DCA เป็นการลงทุนที่ง่าย แต่ต้องเลือกหุ้นด้วย
7 กุมภาพันธ์ 2568 · อ่าน 1 นาที
หนึ่งในท่าประจำของมนุษย์วัยทำงานที่ใช้กันสำหรับการลงทุนคือ การ DCA
DCA พูดง่าย ๆ ก็คือ การที่เราลงทุนด้วยจำนวนเงินเท่ากันในทุกงวด ๆ โดยไม่สนใจว่า สินทรัพย์นั้นจะมีราคาเป็นอย่างไร
เช่น เราลงทุนในหุ้น Apple (AAPL) เดือนละ 2,000 บาท ทุกวันที่ 25 ของเดือน
เดือนม.ค. หุ้น Apple (AAPL) ราคา $192.42 ต่อหุ้น เราลงทุนเดือนละ 2,000 บาท
เดือนก.พ. หุ้น Apple (AAPL) ราคา $182.52 ต่อหุ้น เราก็ลงทุนเดือนละ 2,000 บาทเหมือนเดิม
เดือนมี.ค. หุ้น Apple (AAPL) ราคา $200.71 ต่อหุ้น เราก็ลงทุนเดือนละ 2,000 บาทแบบเดือนก่อนเป๊ะ
ด้วยจำนวนเงินลงทุนเท่าเดิม จะทำให้แต่ละเดือนเราได้จำนวนหุ้นที่ไม่เท่ากัน ส่งผลให้ต้นทุนต่อหุ้นเกิดการเฉลี่ย
เดือนไหนราคาหุ้นต่ำ เราก็ได้ต้นทุนที่ต่ำลง กลับกันเดือนไหนราคาหุ้นสูง เราก็ได้ต้นทุนที่สูงขึ้น (ไม่ควรเสียใจหากราคาหุ้นเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เพราะนั่นหมายความว่า เราเลือกหุ้นถูกตัวแล้ว)
ด้วยความเรียบง่ายแบบนี้ หลายคนจึงนิยม DCA กันนั่นเอง
อย่างไรก็ตาม การ DCA ก็ไม่สามารถใช้ได้กับทุกหุ้น เพราะหุ้นที่เราเลือก ต้องเป็นหุ้นที่จะเติบโตในระยะยาวด้วย
นึกภาพตามว่า ถ้าปลายทางคือบริษัทล้มละลาย ต่อให้ DCA จะช่วยถัวเฉลี่ยต้นทุนอย่างไรก็แล้วแต่ ผลลัพธ์ก็คือ 0
แล้วหุ้นต้องมีคุณสมบัติแบบไหนถึงจะเหมาะสำหรับ DCA
- อยู่ในธุรกิจที่ดี และมีโอกาสเติบโต เพราะการ DCA คือการลงทุนระยะยาว ดังนั้นธุรกิจที่เลือก ต้องดีและมีโอกาสเติบโตไปได้เรื่อย ๆ
- กำไรและอัตรากำไรสม่ำเสมอ สุดท้ายแล้วตัวเลขบรรทัดล่างสุดของงบกำไรขาดทุนก็คือ สิ่งที่ทุกธุรกิจต้องการ เพราะต่อให้รายได้เติบโตแค่ไหน ถ้าไม่มีกำไรก็อยู่ไม่รอด
อย่างไรก็ตาม ธุรกิจที่ขาดทุนอยู่ ไม่ใช่ทุกธุรกิจที่แย่ บางครั้งการขาดทุนก็เพื่อขยายตลาดให้เร็วที่สุด หรือกำลังรอให้มีลูกค้าถึงจุดต้นทุนคงที่อยู่ก็ได้ หลังจากนั้นก็สร้างกำไรยาว ๆ ได้เช่นกัน
ดังนั้นต้องไปศึกษาต่อให้ดี อย่าเพิ่งตัดหุ้นออกจากลิสต์ลงทุน เพียงเพราะปัจจุบันบริษัทยังขาดทุน
- ฐานะทางการเงินมั่นคง โดยไม่จำเป็นต้องหนี้สินต่ำมาก ๆ เพราะถ้าบริษัทสามารถสร้างกำไรมาจ่ายดอกเบี้ยและเงินต้นได้เสมอ ก็ถือว่าเป็นบริษัทที่ดี
- ผู้บริหารมีธรรมาภิบาล อันนี้เข้าใจง่ายเลย คิดดูว่าถ้าผู้บริหารไม่ดี หาผลประโยชน์เข้าตัวเองเสมอ บริษัทจะดีได้อย่างไร ไม่นับเรื่องการฉ้อโกงต่าง ๆ เช่น การตกแต่งบัญชีอีก ที่ถ้าเกิดขึ้นบอกเลยว่า หายนะ
ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน และความเสี่ยง ก่อนตัดสินใจลงทุน
ผลการดำเนินงานในอดีต/ ผลการเปรียบเทียบ ผลการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ในตลาดทุน มิได้เป็นสิ่งยืนยันถึงผลการดำเนินงานในอนาคต
ข้อมูลนี้จัดทำขึ้นโดยอาศัยแหล่งข้อมูลสาธารณะ ซึ่งพิจารณาแล้วว่ามีความน่าเชื่อถือซึ่งปรากฏขณะจัดทำ ซึ่งอาจเปลี่ยนแปลงได้ในแต่ละขณะเวลา บริษัทขอสงวนสิทธิ์ในการเปลี่ยนแปลงความเห็นหรือประมาณการต่าง ๆ ที่ปรากฏโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า
ที่มา : SET และ financecharts.com
ข้อมูล ณ วันที่ 25 ม.ค. 68