ภาษีหุ้นต่างประเทศ จะนำเงินกลับไทยต้องเสียภาษีอะไรบ้าง
24 เมษายน 2567 · อ่าน 2 นาที
ปัจจุบันการลงทุนในหุ้นต่างประเทศกำลังได้รับความนิยมมากขึ้น โดยเฉพาะนักลงทุนที่ต้องการกระจายความเสี่ยงให้พอร์ตลงทุน หรือต้องการแสวงหาโอกาสในการได้รับผลตอบแทนที่ดีกว่า นอกจากนีั สิ่งที่ทำให้นักลงทุนสามารถเข้าถึงธุรกิจชั้นนำของโลกได้ คือ ความสะดวกในการลงทุนที่ใช้เงินเริ่มต้นเพียง 50 บาท ก็สามารถเทรดหุ้นสหรัฐอเมริกาได้ง่าย ๆ บนแอป Dime!
อย่างไรก็ตาม การลงทุนในหุ้นต่างประเทศก็อาจมีความซับซ้อนเกี่ยวกับเรื่องภาษีที่ต่างจากการลงทุนในตลาดหุ้นไทย นักลงทุนจึงควรทำความเข้าใจถึงรูปแบบการจัดเก็บภาษีของประเทศที่ลงทุน รวมถึงกฎหมายภาษีของประเทศไทยด้วย เพราะภาษีอาจมีผลต่อกำไรที่ได้รับไม่มากก็น้อย การปรับตัวตามข้อกำหนดและกฎระเบียบทางภาษีจึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยลดความเสี่ยงทางภาษีได้
วันนี้ Dime! จะพาเพื่อน ๆ ไปทำความเข้าใจถึงเงื่อนไขการเสียภาษี ความแตกต่างด้านภาษีของการลงทุนในหุ้นไทยและหุ้นนอก และขอให้ทุกท่านประสบความสำเร็จในการลงทุนไปด้วยกันนะครับ
*บริการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ โดยธนาคารเกียรตินาคินภัทร
ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน และความเสี่ยง ก่อนตัดสินใจลงทุน
ปัจจุบันการจัดเก็บภาษีในประเทศไทย จะพิจารณาจาก 2 หลักเกณฑ์ คือ
(1) เป็นผู้มีเงินได้จากงานหรือกิจการที่ทำในประเทศไทย หรือเนื่องจากกิจการของนายจ้างในประเทศไทย หรือเนื่องจากทรัพย์สินอยู่ในประเทศไทย จะต้องเสียภาษีในส่วนนี้ไม่ว่าเงินนั้นจะจ่ายใน หรือนอกประเทศ
(2) เป็นผู้อยู่อาศัยในประเทศไทยอย่างน้อย 180 วัน ในปีภาษีที่เกิดเงินได้ (ตามปีปฏิทิน 1 ม.ค. - 31 ธ.ค.)
กล่าวคือ ถ้าคุณมีแหล่งเงินได้ในไทย และอยู่อาศัยในไทยอย่างน้อย 180 วัน จะต้องเสียภาษีให้กรมสรรพากร
แต่หากคุณมีรายได้จากต่างประเทศ หลักในการพิจารณาจะแตกต่างออกไป โดยกฎหมายจะพิจารณาใน 2 หลักเกณฑ์ คือ
(1) เป็นผู้อยู่อาศัยในประเทศไทยอย่างน้อย 180 วัน ในปีภาษีที่เกิดเงินได้
(2) มีเงินได้เนื่องจากหน้าที่หรือกิจการที่ทำในต่างประเทศ หรือเนื่องจากทรัพย์สินที่อยู่ในต่างประเทศ จะต้องเสียภาษีเงินได้เมื่อนำเงินได้พึงประเมินนั้นเข้ามาในประเทศไทย ในที่นี้ หมายถึง การนำเงินได้เข้ามาในประเทศไทย “ไม่ว่าปีภาษีใดก็ตาม”
หรือสรุปได้ว่า ถ้าอยู่ไทยอย่างน้อย 180 วัน และมีรายได้จากต่างประเทศ เท่ากับต้องเสียภาษีเงินได้นะ
แล้วเงินได้อะไรบ้าง ที่ต้องนำมาเสียภาษี ?
มาทำความเข้าใจกับ ”รายได้” กันบ้าง ว่ารายได้ที่เกิดจากการลงทุนในหุ้นต่างประเทศมีอะไรบ้าง และส่วนใดถูกเก็บเสียภาษีโดยใครบ้าง
1. รายได้ที่เกิดจาก “อัตราแลกเปลี่ยน (Foreign Exchange)”
ส่วนต่างจากอัตราแลกเปลี่ยนจะไม่ต้องเสียภาษี เช่น หากคุณแลกเงิน* 1,000 USD ที่อัตราแลกเปลี่ยน 34.40 บาทต่อ 1 USD (เท่ากับเป็นเงิน 34,400 บาท) และต่อมาได้ทำการแลกเงินกลับที่ 1,000 USD เท่าเดิม แต่เนื่องจากอัตราแลกเปลี่ยนได้อ่อนค่าเป็น 35.50 บาท คิดเป็นเงินบาทเท่ากับ35,500 บาท ซึ่งส่วนต่างของเงินที่แลกไปกลับ 1,100 บาทนั้น เกิดจากการเคลื่อนไหวของอัตราแลกเปลี่ยน จึงไม่ต้องนำไปเสียภาษี
อย่างไรก็ตาม ขอให้ลูกค้าเก็บเอกสารหรือรายการแลกเงินในแอป Dime! เพื่อใช้ในการยืนยันธุรกรรมข้างต้นแก่กรมสรรพากรด้วย
*บริการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ โดยธนาคารเกียรตินาคินภัทร
2. รายได้ที่เกิดจาก “เงินปันผล (Dividend)”
ขณะที่ลงทุนในสหรัฐอเมริกา
เสียภาษี 15% ของมูลค่าของเงินปันผล
ขณะนำเงินปันผลกลับไทย
ต้องนำมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในประเทศไทยด้วยวิธีเครดิตภาษี กล่าวคือ ใช้เครดิตภาษีจากจำนวนภาษีที่ถูกหัก ณ ที่จ่ายในสหรัฐอเมริกา (15%) มาหักลดหย่อนภาษีที่ต้องจ่ายในประเทศไทยได้
ตัวอย่าง การเสียภาษีเงินปันผลหุ้นต่างประเทศ สมมุติว่าคุณได้รับเงินปันผลจากหุ้นสหรัฐอเมริกาเป็นจำนวน 1,000 ดอลลาร์ และต้องการนำรายได้จากเงินปันผลกลับประเทศไทยจะต้องเสียภาษี ดังนี้
- เสียภาษีหัก ณ ที่จ่ายในสหรัฐอเมริกา 15% คิดเป็นเงิน 150 ดอลลาร์ คุณจะได้รับเงินปันผลสุทธิ 850 ดอลลาร์
- เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในประเทศไทย โดยใช้เครดิตภาษีเงินปันผล กล่าวคือ เมื่อนำเงิน 850 ดอลลาร์กลับเข้าไทย จะต้องนำมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในไทยตามอัตราภาษีก้าวหน้า (5%-35%) ขึ้นอยู่กับรายได้รวมทั้งปีของคุณ อย่างไรก็ตาม คุณสามารถใช้เครดิตภาษีจากจำนวนภาษีที่ถูกหัก ณ ที่จ่ายในสหรัฐฯ (150 ดอลลาร์) มาหักลดหย่อนภาษีที่ต้องจ่ายในไทยได้
ทั้งนี้ กฎหมายภาษีและเงื่อนไขของอนุสัญญาภาษีซ้อนที่ไทยทำร่วมกับสหรัฐอเมริกาอาจมีการเปลี่ยนแปลงได้ ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลล่าสุดจากกรมสรรพากร หรือปรึกษาผู้เชี่ยวชาญด้านภาษีด้วย
=====
อนุสัญญาภาษีซ้อน คือ สัญญายกเว้นการเก็บภาษีซ้อนที่รัฐบาลไทยได้ทำไว้กับรัฐบาลประเทศอื่น เป็นสนธิสัญญาทางภาษีแบบทวิภาคี ที่สองประเทศตกลงทำขึ้นเพื่อช่วยให้ผู้เสียภาษีไม่ต้องเสียภาษีซ้ำซ้อนจากรายได้ที่ได้รับ ทั้งในประเทศที่เกิดเงินได้กับประเทศที่เป็นที่อยู่อาศัยของผู้เสียภาษี โดยอนุสัญญาภาษีซ้อนจะช่วยสร้างกฎเกณฑ์และขั้นตอนการเสียภาษีที่ชัดเจน เพิ่มความโปร่งใส ลดข้อโต้แย้ง และเป็นการแลกเปลี่ยนข้อมูลทางภาษีกันระหว่าง ประเทศคู่สัญญาเพื่อสร้างความเป็นธรรมให้ผู้เสียภาษี
โดยจะระบุว่าประเทศไหนจะเป็นผู้เก็บภาษีเงินได้จากรายได้ประเภทใด ในจำนวนเท่าไหร่ และในรูปแบบไหน เพื่อให้เกิดการจ่ายภาษีเพียงครั้งเดียว เช่น ผู้เสียภาษีสามารถนำจำนวนภาษีที่ได้จ่ายไปแล้วในประเทศที่เกิดรายได้มาเป็นเครดิตภาษีที่ใช้หักกับภาษีที่ต้องจ่ายในประเทศไทย เป็นต้น
ทั้งนี้ Dime! ได้อำนวยความสะดวกในการยื่นแบบภาษี W-8BEN แทนลูกค้าทุกท่านโดยการยื่นแบบภาษี W-8BEN เพื่อรับรองว่าท่านไม่ได้เป็นบุคคลอเมริกัน (US Person) ส่งผลให้ลูกค้าได้รับประโยชน์จากอนุสัญญาภาษีซ้อน (Double Tax Agreement – DTA ระหว่างประเทศไทยกับประเทศสหรัฐอเมริกา) บนรายได้ของลูกค้าที่เกิดจากเงินปันผล และกำไรจากการลงทุนในประเทศสหรัฐอเมริกา
=====
3. รายได้ที่เกิดจาก “กำไรจากการขายหลักทรัพย์ (Capital Gain)”
ขณะที่ลงทุนในสหรัฐอเมริกา
ไม่ต้องเสียภาษี
เนื่องจากสหรัฐอเมริกาไม่เก็บภาษีดังกล่าวจากคนที่ไม่ใช่ถิ่นที่อยู่ทางภาษีในประเทศสหรัฐอเมริกา (Tax Resident)
ขณะนำเงินกลับไทย
เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามอัตราก้าวหน้า สูงสุดไม่เกิน 35%
=====
สูตรการคำนวณ กำไรจากการขายหลักทรัพย์
คือ ((ราคาขาย - ราคาซื้อ) x จำนวนหุ้น) - ค่าธรรมเนียม
=====
จากที่กล่าวมาสรุปได้ว่าตั้งแต่ปี 2567 เป็นต้นไป “ทุกยอดกำไร” ที่โอนกลับมาประเทศไทยจะต้องนำมายื่นเสียภาษีทั้งหมด ไม่ว่าจะนำเข้ามาในปีใดก็ตาม สำหรับรายละเอียดเอกสารหรือวิธีการแจกแจงกำไรและต้นทุนเงินลงทุน หากมีประกาศเพิ่มเติมจากกรมสรรพากร Dime! จะอัปเดตให้ทุกท่านได้ทราบต่อไป
ขณะที่ “เงินปันผล” ที่ถูกภาษีที่สหรัฐฯ ไปแล้ว หากมีการโอนกลับมาประเทศไทยด้วย เราเพียงสำแดงแก่กรมสรรพากรว่าเงินดังกล่าวได้ถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายไปแล้ว โดยเอกสารภาษีหัก ณ ที่จ่ายของเงินปันผลทั้งปีของหุ้นสหรัฐฯ คุณลูกค้าสามารถใช้เอกสาร Monthly Statement ของโบรกเกอร์ต่างประเทศหรือแคปหน้าจอจากหน้าประวัติรายการหุ้นสหรัฐฯ เพื่อยื่นกับทางกรมสรรพากรได้เลย
(หากเป็นรายได้ที่เกิดขึ้นก่อนวันที่ 1 มกราคม 2567 ดังกล่าว แล้วนำเข้ามาในประเทศไทยไม่ว่าในปีใด ไม่ต้องเสียภาษีในส่วนดังกล่าว)
ทั้งนี้ ข้อมูลการซื้อขายที่ควรจัดเก็บไว้เพื่อสำแดงแก่กรมสรรพากร ได้แก่
- วันที่ซื้อ ราคาซื้อ จำนวนซื้อ
- วันที่ขาย ราคาขาย จำนวนขาย
- ค่านายหน้าและค่าธรรมเนียมที่เกี่ยวข้องในแต่ละรายการ
- อัตราแลกเปลี่ยนที่ใช้ในการแปลงค่าแลกเงินกลับเป็นเงินบาท
- หากมีการนำเงินปันผลไปลงทุนต่อก็ควรบันทึกรายการเหล่านี้ไว้ด้วย เช่น วันที่ จำนวนเงิน สกุลเงิน อัตราแลกเปลี่ยน ราคาซื้อ เพื่อคำนวณเป็นราคาต้นทุนของหุ้นที่ซื้อ
การตีความเรื่องภาษีเงินปันผลจากหุ้นต่างประเทศข้างต้น มีเจตนาเพื่อให้เป็นประโยชน์ต่อกรมสรรพากรมากที่สุด โดยเน้นให้ผู้เสียภาษีมีความเข้าใจที่ถูกต้องและครบถ้วนเกี่ยวกับภาระภาษีที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะช่วยให้เกิดความโปร่งใสและลดความเสี่ยงในการหลีกเลี่ยงภาษี ตลอดจนส่งเสริมการปฏิบัติตามกฎหมายภาษี ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อทั้งผู้เสียภาษีและกรมสรรพากรในระยะยาว
ผู้ลงทุนควรรับทราบว่า ผู้ลงทุนมีหน้าที่ในการขอรับคำแนะนำด้านกฎหมาย และ/หรือ ภาษี ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับธุรกรรมที่ลงทุน บริษัทไม่ได้ให้คำแนะนำด้านกฎหมาย และ/หรือภาษี และไม่รับผิดชอบต่อการให้คำแนะนำผู้ลงทุนที่เกี่ยวกับกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการทำธุรกรรม
ที่มา :
1) มาตรา 41 แห่งประมวลรัษฎากร และคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป. 161/2566 เรื่อง การเสียภาษีเงินได้ตามมาตรา 41 วรรค 2 แห่งประมวลรัษฎากร และอนุสัญญาภาษีซ้อนระหว่างประเทศไทยและประเทศสหรัฐอเมริกา
2) ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
Dime! ครบเครื่องเรื่องการเงิน แอปพลิเคชันที่ทุกคนสามารถเข้าถึงการลงทุนได้อย่างเท่าเทียม
เรารอฟังคำแนะนำจากทุกคนอยู่ ติดต่อเราได้เลยทางแอป Dime! หรือช่องทางโซเชียล Facebook และ LINE
[รู้จักเรา]
Dime! (ไดม์!) แปลว่าเหรียญ 10 เซนต์ (ประมาณ 3 บาท) สื่อถึงความตั้งใจของเราที่จะทำให้การเงินการลงทุน เป็นเรื่องที่คุณเข้าถึงได้ง่ายเหมือนกับเงิน 1 ไดม์